หลักการตั้งชื่อเว็บไซต์ (ชื่อโดเมน) แบบที่จะไม่เสียใจทีหลัง

คุณกำลังปวดหัวกับการคิดชื่อเว็บไซต์อยู่หรือเปล่า?

คนที่ต้องการคิดชื่อเว็บไซต์เหมาะๆ จะเจอปัญหา 2 อย่าง

  1. คุณไม่รู้ว่าชื่อเว็บไซต์ที่ดีควรเป็นอย่างไร (เช่น ควรตั้งชื่อให้สื่อความหมายหรือไม่ ควรเลือกนามสกุล .com หรือ .net ดี)
  2. คุณหาชื่อเว็บไซต์ดีๆ ที่ยังไม่มีใครใช้ไม่ได้ เพราะชื่อโดเมนดีๆ มีคนจดทะเบียนไปหมดแล้ว

หากคุณมีปัญหาเหล่านี้ บทความนี้สำหรับคุณครับ

ชื่อเว็บไซต์ที่ดี ควรเป็นอย่างไร

จากประสบการณ์ตั้งชื่อเว็บไซต์มาหลายเว็บ ผมมีหลักการในการตั้งชื่อเว็บไซต์ดังนี้

1. เลือกชื่อที่สั้นไว้ก่อน (ข้อนี้สำคัญสุด)

เหตุผลที่เว็บไซต์ดังๆ เช่น Pantip, Google, YouTube, Facebook ต่างมีชื่อที่สั้นและจำง่าย ก็เพราะว่า ยิ่งชื่อเว็บไซต์ยาวเท่าไหร่ คนก็อยากเข้าเว็บน้อยลงเท่านั้น

ลองคิดเล่นๆ ถ้าเกิดว่ามาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ตัดสินใจจดโดเมน TopSocialNetwork.com แทนที่จะเป็น Facebook.com คุณคิดว่าคนจะเข้าเว็บบ่อยเหมือนเดิมรึเปล่า (ก็คงไม่) หรือถ้า Google เปลี่ยนชื่อเว็บไซต์เป็น SmartSearchEngine.com แทนล่ะ ผมว่าคนส่วนใหญ่คงหนีไปใช้ Bing.com แน่นอน (ผมคนนึงล่ะที่จะทำแบบนั้น)

หากคุณผู้อ่านลองสำรวจรายชื่อเว็บไซต์ที่เป็นที่นิยมที่สุดในโลกดู จะพบว่า ชื่อเว็บไซต์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีแค่ 1 – 4 พยางค์เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ผมอยากให้ผู้อ่านพยายามคิดหาชื่อเว็บไซต์ที่สั้นๆ เข้าไว้ คนจะได้จำได้ง่ายและพิมพ์สะดวก (ที่สำคัญ ตัวคุณเองจะได้พิมพ์ชื่อเว็บไซต์ตัวเองได้ง่ายๆ ด้วย)

ผมมีเว็บไซต์อยู่เว็บหนึ่งชื่อ EngFluent.com เป็นเว็บสอนภาษาอังกฤษ (ชื่อเว็บสั้นดีไหมครับ) แต่เชื่อไหม ก่อนที่จะตัดสินใจใช้ชื่อนี้ ผมเคยคิดจะตั้งชื่อเว็บไซต์เป็น EnglishFluencyTraining.com ตอนนั้นผมคิดว่ามันฟังดูจริงจังดี แต่โชคดี มีพี่ที่รู้จักคนนึงทักว่ามันยาวไป ผมเลยเปลี่ยนใจย่อเป็น EngFluent.com ตอนนี้รู้สึกขอบคุณพี่คนนั้นมาก เพราะถ้าติดสินใจใช้ชื่อยาว ชีวิตคงลำบากขึ้นเยอะ

2. เลือกชื่อที่สื่อความหมาย (ถ้าเป็นไปได้)

ถ้าอยากให้คนจำชื่อเว็บเราได้ง่ายๆ ผู้อ่านต้องตั้งชื่อเว็บให้มีคำที่สื่อถึงเนื้อหาของเว็บไซต์

ยกตัวอย่างเช่น ผมมีเว็บสอนเทคนิคฝึกพูดภาษาอังกฤษ เลยตั้งชื่อเว็บไซต์เป็น EngFluent.com (มาจากคำว่า English และ fluent)

อีกตัวอย่างนึงก็คือชื่อเว็บนี้ NoobMarketer.com (noob แปลว่า มือใหม่ หรือคนที่ไม่ประสีประสา) สาเหตุที่ผมเลือกชื่อนี้ก็เพราะผมตั้งใจสร้างเว็บนี้เพื่อสอนวิธีทำการตลาดออนไลน์ (marketing) แบบอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ สำหรับนักการตลาดมือใหม่ที่แทบไม่มีความรู้เรื่องการทำการตลาดออนไลน์เลย (ไม่รู้แม้กระทั่งขั้นตอนการสร้างเว็บไซต์)

ถึงตรงนี้ผู้อ่านอาจคิดว่า เอ๊ะแต่ว่าเว็บไซต์ดังๆ อย่าง Google, YouTube, Amazon, Pantip ก็ไม่เห็นมีชื่อที่สื่อความหมายเลยนี่นา นั่นก็จริงครับ แต่อย่าลืมว่าเว็บไซต์พวกนั้นเป็นแบรนด์ระดับโลกครับ (ส่วนพันทิปก็เป็นเว็บไซต์อันดับหนึ่งของประเทศไทย) เว็บไซต์พวกนี้มีคนเข้าเป็นล้านๆ คนต่อวัน มีเว็บไซต์จำนวนน้อยมากที่ไปถึงจุดนั้นได้ สำหรับเว็บไซต์ทั่วไป การมีชื่อที่สื่อความหมายจะช่วยให้คนจำเว็บไซต์เราได้ง่ายขึ้น

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเว็บไซต์ดังๆ ที่ตั้งชื่อได้สื่อความหมาย

  • Pinterest.com ขื่อเว็บมาจากคำว่า pin และ interest ผสมกัน เว็บไซต์นี้อนุญาตให้เราปักหมุด (pin) รูปภาพและวิดีโอที่เราสนใจ (interest)
  • Flippa.com ตลาดออนไลน์สำหรับซื้อขายเว็บไซต์ (ความหมายหนึ่งของคำว่า flip คือ การซื้อและทรัพย์สินบางอย่างและขายออกอย่างรวดเร็วเพื่อทำกำไร)
  • SkillLane.com เว็บขายคอร์สออนไลน์สำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะ (skill) ในด้านต่างๆ

3. เลือกนามสกุล .com

คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับเว็บไซต์ที่มีนามสกุล .com เพราะฉะนั้นหากจดโดเมนนามสกุลอื่นเช่น mywebsite.net  คนบางส่วนอาจจะจำไม่ได้และพิมพ์ mywebsite.com แทน เนื่องจากเป็นนามสกุลที่คุ้นเคยที่สุด

แต่ก็อย่างที่รู้กัน นามสกุล .com นั้นเป็นทีนิยมมาก ทำให้หาชื่อโดเมนดีๆ ที่ยังว่างอยู่ได้ยาก ผิดกับนามสกุลอื่นเช่น .net หรือ .co ที่ยังหาชื่อดีๆ ที่ยังว่างอยู่ได้ง่ายกว่า

ถ้าหากจด .com ไม่ได้ ผู้เขียนคิดว่าใช้นามสกุล .co ก็โอเค อันนี้ความเห็นส่วนตัวล้วนๆ ผมชอบ .co เพราะมันสั้นและดูดี ตัวอย่างเว็บไทยดังๆ ที่ใช้นามสกุลนี้ก็ fastwork.co (เว็บหาฟรีแลนซ์ อันดับหนึ่งของไทย)

ถ้าคุณต้องการจะใช้นามสกุลอื่นจริง ผมแนะนำว่าก่อนจะจดโดเมน ให้ดูก่อนว่าเว็บ .com ที่มีชื่อเดียวกัน มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ถ้าเนื้อหาไม่เหมือนกันกับเว็บที่เราจะสร้าง ก็สามารถจดได้ เพราะมีโอกาสที่จะเกิดความสับสนน้อย ถ้ามีเนื้อหาหรือลักษณะธุรกิจเหมือนกัน ผมว่าหาชื่อใหม่ดีกว่า

คำแนะนำที่ให้จดนามสกุล .com นี่สำหรับบุคคลทั่วไปหรือบริษัทขนาดกลางหรือเล็กนะครับ สำหรับองค์กรประเภทอื่นๆ ให้จดนามสกุลตามนี้ครับ

  • .co.th สำหรับองค์กรหรือบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย
  • .or.th องค์กรไม่แสวงผลกําไร
  • .ac.th สถาบันการศึกษา
  • .go.th หน่วยงานราชการ

4. ชื่อเว็บไม่ควรมีขีด  หรือตัวอักษรอื่นที่ทำให้สับสน

เหตุผลก็ง่ายๆ ชื่อเว็บไซต์ที่มีขีด (mywebsite.com) อาจทำให้คนสับสน คนอาจจำไม่ได้ว่าชื่อเว็บมีขีดหรือไม่มีขีด ทำให้อาจพิมพ์ชื่อเว็บเป็นแบบไม่มีขีดแทน (mywebsite.com)


หลักเกณฑ์ที่บอกไปนั้น ผู้อ่านไม่จำเป็นตั้งทำตามทุกข้อก็ได้ (เพราะอาจเป็นไปได้ยาก) แต่พยายามตั้งชื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ให้มากที่สุด ผมแนะนำว่าให้ใช้เวลาหลายๆ วัน คิดชื่อไปเรื่อยๆ (คิดเยอะๆ เลย) นึกชื่ออะไรออกก็จดไว้ก่อน จากนั้นค่อยมาเลือกชื่อที่ชอบที่สุดทีหลัง

พอนึกชื่อโดเมนดีๆ ออกก็อย่าลืมเอาชื่อโดเมนนั้นไปเช็คว่ามีคนจดชื่อนั้นไปหรือยัง ผู้อ่านสามารถเช็คได้กับเว็บไซต์ที่รับจดโดเมนทั้งหลาย (domain registrar)

เคล็ดลับตั้งชื่อเว็บไซต์อย่างง่ายๆ

เนื่องจากค่าจดโดเมนถูกมาก คนเลยชอบจดชื่อโดเมนดีๆ เก็บไว้ ทำให้คุณต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อหาชื่อที่ดีๆ ที่ยังไม่มีคนจด

เพราะฉะนั้น ผมขอแบ่งปัน 3 เทคนิคที่ผมชอบใช้ เพื่อให้การคิดชื่อเว็บไซต์ง่ายขึ้น

1. ใส่คำไทยเข้าไปในชื่อเว็บไซต์

ถ้าคุณต้องการชื่อเว็บไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ โอกาสที่จะหาชื่อดีๆ จะยากมากเพราะต้องแย่งกับคนทั่วโลก แต่ถ้าหากคุณตั้งชื่อเว็บไซต์โดยใช้คำไทยผสมกับคำอังกฤษ หรือใช้คำไทยล้วนไปเลย การหาชื่อเว็บไซต์จะง่ายขึ้นมาก

ตัวอย่างการตั้งชื่อเว็บไซต์โดยการผสมคำไทยกับคำอังกฤษ

  • thaiuber.com (เว็บไซต์แนะนำการใช้บริการอูเบอร์)
  • jobthai.com (เว็บไซต์หางาน)
  • siamphone.com (เว็บไซต์โทรศัพท์มือถือ)
  • siamzone.com (เว็บไซต์เพื่อความบันเทิง)

ตัวอย่างการตั้งชื่อเว็บไซต์โดยใช้คำไทยล้วน

  • kaidee.com (ขายดี)
  • sanook.com (สนุก)
  • prakunrod.com (ประกันรถ)

2. ใส่คำที่ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเว็บไซต์เข้าไปด้วย

การตั้งชื่อเว็บไซต์ โดยให้คำทุกคำมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาเว็บเราทั้งหมด ทำได้ยากมากครับ

เพื่อให้ชีวิตง่ายขึ้น เทคนิคหนึ่งที่คุณสามารถใช้ได้ ก็คือ ผสมคำที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเนื้อหาเว็บไซต์เราไปด้วย

ลองมาดูตัวอย่างกันนะครับ ต่อไปนี้คือรายชื่อเว็บไซต์ที่ให้เช่าเว็บโฮสติ้ง (web hosting):

  • bluehost.com
  • dreamhost.com
  • justhost.com
  • hostmonster.com
  • purehost.com
  • hostpapa.com

จะเห็นได้ว่า ชื่อเว็บไซต์เหล่านี้ประกอบด้วยคำว่า host กับคำอีกคำหนึ่งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับเว็บโฮสติ้งเลย วิธีตั้งชื่อแบบนี้ช่วยให้หาชื่อเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้นมาก (แถมชื่อที่ได้ก็สั้น และจำง่ายด้วย)

ข้อดีของวิธีนี้คือ เนื่องจากจำนวนคำในภาษาอังกฤษมีเยอะมาก จึงมีโอกาสสูงที่คุณจะคิดชื่อเว็บไซต์สวยๆ ได้ง่ายครับ

3. ประดิษฐ์คำใหม่ (เล่นคำ)

เทคนิคการตั้งชื่อเว็บไซต์อีกอันหนึ่งคือการ “สร้างคำใหม่” จากคำเดิมที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น

  • marketo.com – เว็บไซต์ขายซอฟต์แวร์การตลาด ชื่อเว็บเพี้ยนมาจากคำว่า marketer
  • udemy.com – เว็บไซต์ขายคอร์สความรู้ออนไลน์ ชื่อเว็บมาจากคำว่า university กับ academy
  • flippa.com – เว็บไซต์สำหรับซื้อและขายเว็บไซต์, ชื่อโดเมน, และแอปมือถือ ชื่อเว็บมาจากคำว่า flip ซึ่งแปลว่าการซื้อและขายทรัพย์สินอย่างรวดเร็วเพื่อทำกำไรระยะสั้น

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ชื่อเว็บไซต์พวกนี้จะใช้คำใหม่ที่เหมือนไม่มีความหมาย แต่ชื่อก็ยังสื่อความหมายอยู่ดี (ในระดับหนึ่ง) นี่เป็นเพราะว่าคำเหล่านี้ถูกเพี้ยนมาจากคำที่มีอยู่แล้วนั่นเอง

จบแล้วครับสำหรับวิธีตั้งชื่อเว็บไซต์ หวังว่าผู้อ่านจะได้ไอเดียที่เป็นประโยชน์นะครับ ถ้าหาชื่อเว็บไซต์ดีๆ ได้แล้ว อย่าลืมจดโดเมนเพื่อจองชื่อไว้นะครับ (เดี๋ยวจะมีคนแย่งไป)

8 thoughts on “หลักการตั้งชื่อเว็บไซต์ (ชื่อโดเมน) แบบที่จะไม่เสียใจทีหลัง”

  1. ที่คุณเขียนมาจริงทุกอย่างเลย ชอบความคิดคุณมาก

    ปล. แอบไปเยี่ยม engfluent.com ของคุณมาด้วย เก๋และดีมาก ๆ

    ขอบคุณมากนะคะ

Comments are closed.