ถ้าคุณมีเว็บไซต์อยู่ก่อนแล้ว แต่อยากสร้างเว็บใหม่ในโฮสตัวเดิม (จะได้ไม่ต้องเสียค่าโฮสเพิ่ม) คุณมาถูกที่แล้วครับ ผมจะแชร์ขั้นตอนให้ว่าต้องทำยังไง
แต่ก่อนอื่น คุณต้องเช็คก่อนว่า plan ของเว็บโฮสที่คุณใช้อยู่เป็นแบบที่ฝากได้หลายเว็บ คือปกติเวลาสมัครเว็บโฮสติ้งเค้าจะเขียนบอกไว้ว่า plan แต่ละแบบรองรับได้กี่เว็บไซต์
ถ้า plan ปัจจุบันของคุณรองรับแค่เว็บเดียว คุณต้องอัพเกรด plan ก่อนนะครับ (ถ้าไม่รู้ก็ถาม customer support ของเว็บโฮสคุณได้เลย)
จริงๆ แล้ว ถ้าเว็บโฮสคุณรองรับหลายเว็บไซต์ คุณสามารถติดต่อ customer support ให้จัดการติดตั้งเว็บไซต์เพิ่มให้คุณได้เลย (คือคุณไม่ต้องเสียเวลาทำตามบทความนี้เลย) แต่ผมเขียนบทความนี้สำหรับคนที่อยากลงมือทำเอง (อาจจะเพราะ support ของเว็บโฮสไม่ยอมทำให้ หรืออาจจะอยากฝึกฝนการทำเว็บไซต์)
หากเว็บโฮสคุณรองรับหลายเว็บไซต์ มาเริ่มกันเลยครับ
1. จดโดเมนสำหรับเว็บไซต์ใหม่
ขั้นตอนนี้ไม่มีอะไรมากครับ คุณแค่ไปจดโดเมนสำหรับเว็บไซต์ใหม่ให้เรียบร้อย (ถ้ายังไม่ได้ทำ)
มือใหม่บางท่านอาจเข้าใจผิดว่า ถ้าเราจ่ายเงินค่าเว็บโฮสประเภทที่รองรับหลายเว็บแล้ว คราวนี้เราจะสามารถลงกี่เว็บไซต์ก็ได้ตามใจชอบ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดครับ ถ้าเราต้องการเพิ่มเว็บใหม่ เราต้องจดโดเมนให้เว็บนั้นก่อนเสมอ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายครับ
สำหรับความรู้เกี่ยวกับการจดโดเมน เช่น วิธีตัดสินใจว่าจะจดโดเมนที่ไหน (จดกับเว็บโฮสที่ใช้อยู่ หรือกับบริษัทรับจดโดเมนที่ราคาถูกกว่า) ผมแชร์รายละเอียดพวกนี้ไว้แล้วในบทความสอนจดโดเมน เข้าไปอ่านได้เลยครับ (ลิงก์จะเปิดในหน้าต่างใหม่)
2. เชื่อมโดเมนกับเว็บโฮสเข้าด้วยกัน
อธิบายง่ายๆ การ “เชื่อมต่อ” คือการทำให้เว็บโฮสรู้จักและมองเห็นโดเมนของเรา
โดยหากคุณจดโดเมนกับเว็บโฮสของคุณ คุณอาจไม่ต้องทำขั้นตอนนี้ เพราะเว็บโฮสหลายแห่งเวลาเราจดโดเมนเพิ่ม ระบบจะทำการเชื่อมต่อโดเมนใหม่นั้นกับเว็บโฮสให้โดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่ต้องทำขั้นตอนนี้ครับ
สำหรับวิธีตรวจสอบว่าโดเมนกับเว็บโฮสเชื่อมต่อกันรึยัง รวมถึงขั้นตอนการเชื่อมต่ออย่างละเอียด ให้อ่านบทความนี้ได้เลยครับ (ลิงก์จะเปิดในหน้าต่างใหม่)
3. สร้าง Addon Domain
เวลาคุณเพิ่มโดเมน(เว็บไซต์)ใหม่ในเว็บโฮส โดเมนนี้จะเรียกว่า addon domain (แปลได้ประมาณว่าโดเมนที่ถูกเพิ่มเข้าไปนอกเหนือจากโดเมนหลัก)
อย่างในเว็บโฮสติ้งของผม นอกเหนือจากโดเมนหลัก (noobmarketer.com) ผมยังเพิ่ม addon domain เข้าไปอีก 4 โดเมน ซึ่งก็เท่ากับว่าผมมีเว็บไซต์รวมกัน 5 เว็บ
แต่ก่อนที่ผมจะสอนการสร้าง addon domain คุณต้องทำความรู้จักกับ public_html และ document root ก่อนครับ (จะได้ไม่งงเวลากรอกค่า settings)
โฟลเดอร์ public_html คืออะไร
เวลาคุณสมัครเว็บโฮสติ้ง คุณจะได้พื้นที่สำหรับเก็บไฟล์ต่างๆ
คุณสามารถเข้าไปดูไฟล์พวกนี้โดยล็อกอินเข้าไปที่ control panel ของเว็บโฮสคุณ แล้วเลือกไอคอน File Manager (control panel คือหน้าเว็บที่เว็บโฮสส่งให้คุณ เพื่อเอาไว้บริหารจัดการเว็บไซต์ โฮสบางที่เรียกหน้าเว็บนี้ว่า cPanel)
ใน File Manager คุณจะเห็นโฟลเดอร์ทั้งหมดของบัญชีคุณ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือโฟลเดอร์ public_html
โฟลเดอร์ public_html เป็นโฟลเดอร์สำหรับเก็บไฟล์ทั้งหลายของเว็บไซต์คุณ ไม่ว่าจะเป็นไฟล์ของโปรแกรม WordPress หรือรูปภาพต่างๆ ที่คุณอัพโหลดขึ้นไปบนเว็บไซต์ ก็ถูกเก็บอยู่ในนี้ (ไม่ว่าคุณจะมีกี่เว็บไซต์ ไฟล์ก็จะอยู่ในโฟลเดอร์นี้ทั้งหมด)
เวลาคุณสร้างเว็บไซต์ใหม่ คุณต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าไฟล์ของเว็บไซต์นั้นถูกเก็บภายใน public_html ครับ ไม่งั้นคนจะไม่เห็นเว็บไซต์คุณ
document root คืออะไร
สังเกตภาพด้านล่าง มีคอลัมน์ชื่อ Document Root อยู่
Document root คือโฟลเดอร์ที่เอาไว้เก็บไฟล์ของเว็บไซต์หนึ่งๆ โดยที่
- เว็บแต่ละเว็บ (ที่อยู่ใน host เดียวกัน) จะมี document root ไม่ซ้ำกัน
- document root ของทุกเว็บต้องอยู่ภายใต้โฟลเดอร์ public_html
ปกติเว็บไซต์แรกที่เราสร้างจะมี document root อยู่ที่ public_html ส่วนเว็บที่เพิ่มเข้ามาภายหลังจะมี document root อยู่ในโฟลเดอร์ย่อย public_html/website-name.com
หากงงดูรูปข้างล่างได้ครับ ด้านล่างคือสิ่งที่อยู่ใน public_html ของผม
จากรูปจะเห็นว่าไฟล์ของโดเมนหลัก (noobmarketer.com) จะอยู่ใน public_html เลย แต่ไฟล์ของโดเมนอื่นที่ผมเพิ่มมาภายหลังจะอยู่ในโฟลเดอร์ย่อยของใครของมัน
สรุปอีกทีนะครับ
- document root ของ noobmarketer.com คือ public_html
- document root ของโดเมนอื่นๆ คือ public_html/website-name.com (ของใครของมัน)
เมื่อเรารู้แล้วว่า public_html และ document root คืออะไร มาสร้าง addon domain กันเลยครับ
ขั้นตอนสร้าง Addon Domain
ในตัวอย่างนี้ ผมจะเพิ่มโดเมนชื่อ thaipharmacist.com เข้าไปในเว็บโฮส เวลาทำตามอย่าลืมเปลี่ยนเป็นโดเมนเป็นของคุณเองนะครับ
ใน control panel ให้คลิก Addon Domains
จากนั้นให้กรอกรายละเอียดของโดเมนที่ต้องการเพิ่ม (คำอธิบายอยู่ด้านล่างรูป)
- New Domain Name: ให้พิมพ์ชื่อโดเมนพร้อมกับนามสกุลลงไป (.com, .net, .co.th)
- Subdomain: พิมพ์ชื่อโดเมนโดยไม่ต้องมีนามสกุล
- Document Root: พิมพ์ public_html/ ตามด้วยชื่อโดเมนและนามสกุล
- Create an FTP account assciated with this Addon Domain: อันนี้ถามว่าจะสร้างบัญชี FTP สำหรับโดเมนนี้หรือไม่ อันนี้ไม่จำเป็นต้องติ๊กเลือกและขอไม่อธิบายว่ามันคืออะไร (แต่ถ้าเกิดต้องใช้จริงๆ เราสร้างทีหลังได้ครับ)
เวลาคุณพิมพ์ค่าลงในช่อง New Domain Name ระบบอาจทำการเติมค่าช่องอื่นๆ ให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจเป็นค่าที่ผิด เพราะฉะนั้นให้เช็คดูดีๆ ครับ
พอกดปุ่ม Add Domain ถ้าเห็นข้อความประมาณว่า The addon domain “website-name.com” has been created. แสดงว่าสำเร็จ
ตอนนี้ถ้าเข้าไปที่ public_html จะเห็นว่ามีโฟลเดอร์ใหม่ถูกสร้างขึ้นมา โฟลเดอร์นี้คือ document root ของเว็บไซต์คุณครับ
แต่ตอนนี้ถ้าคุณพิมพ์ชื่อโดเมนลงใน web browser คุณจะเห็นเป็นหน้าขาวๆ อยู่ เนื่องจากโฟลเดอร์เว็บไซต์คุณเป็นโฟลเดอร์เปล่า ไม่มีไฟล์อะไรเลย เพราะฉะนั้นเรามาติดตั้ง WordPress กันเลยครับ
4. ติดตั้งโปรแกรม WordPress
สำหรับวิธีการติดตั้ง WordPress คุณสามารถทำตามบทความสอนการติดตั้ง WordPress บน web hosting ของผมได้เลย
ตอนทำความบทความดังกล่าว จะมีขั้นตอนหนึ่งที่คุณต้องเลือกว่าจะติดตั้ง WordPress ที่โดเมนไหน คุณก็แค่เลือกโดเมนให้ถูกต้องเท่านั้น (ก็คือเลือก addon domain ที่คุณได้เพิ่มเข้าไปนั่นเอง)
หลังจากติดตั้งเสร็จแล้ว ให้ลองตรวจสอบความถูกต้อง โดยใช้ File Manager เข้าไปดูที่โฟลเดอร์ public_html/website-name.com (หรือ document root ของเว็บไซต์คุณ) หากโฟลเดอร์ดังกล่าวมีไฟล์จำนวนมากอยู่ในนั้นแสดงว่าทุกอย่างเรียบร้อยครับ
จบแล้วครับสำหรับวิธีการเพิ่มเว็บไซต์ใหม่ในเว็บโฮสเดิม หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านนะครับ