คุณต้องการจะแสดงวิดีโอบนเว็บไซต์คุณ แต่ไม่แน่ใจว่าต้องทำยังไง ใช่หรือไม่ครับ
ถ้าใช่ ผมจะอธิบายวิธีการใส่วิดีโอบนเว็บไซต์ WordPress อย่างถูกต้องให้ครับ
สรุปเนื้อหา
- เก็บไฟล์วิดีโอไว้ที่ไหนดี
- ทำไมคุณถึงไม่ควรอัพโหลดไฟล์วิดีโอไปที่เว็บไซต์คุณ
- การ Embed วิดีโอจาก YouTube ในเว็บไซต์ WordPress
- แพลตฟอร์มวิดีโอแบบไร้โฆษณาที่ผมแนะนำ
เก็บไฟล์วิดีโอไว้ที่ไหนดี (self-hosted vs. embedded videos)
ถ้าคุณอยากแสดงวิดีโอของคุณเองบนเว็บไซต์คุณ ก่อนอื่นคุณต้องเลือกว่าจะเก็บไฟล์วิดีโอไว้ที่ไหน ซึ่งมีสองแนวทางหลักๆ ด้วยกัน
แนวทางแรกคือ เก็บไฟล์ไว้บนเว็บไซต์ของคุณเอง (ก็คือเก็บไว้ในพื้นที่ของเว็บโฮสติ้งคุณ รวมกับไฟล์โปรแกรม WordPress และไฟล์รูปภาพ) โดยการอัพโหลดไฟล์ผ่านเมนู WordPress (Media >> Add New)

ซึ่งการเก็บไฟล์วิดีโอไว้บนเว็บไซต์แบบนี้ (self-hosted videos) ไม่เป็นที่นิยม และผมไม่แนะนำให้ทำครับ
อีกแนวทางหนึ่งก็คืออัพโหลดวิดีโอไปที่แพลตฟอร์มอย่าง YouTube (ฟรี) หรือ Vimeo (เสียตัง) ซึ่งออกแบบมาสำหรับวิดีโอโดยเฉพาะ จากนั้นก็คัดลอกโค้ด HTML สำหรับแสดงวิดีโอมาแปะไว้บนเว็บไซต์เราครับ
เราเรียกวิธีนี้ว่าการ embed (ฝัง) วิดีโอ ซึ่งทำให้สามารถเล่นวิดีโอผ่านหน้าเว็บคุณได้ แม้ตัวไฟล์วิดีโอจะถูกเก็บไว้ที่แพลตฟอร์มอื่น
ทำไมคุณถึงไม่ควรอัพโหลดไฟล์วิดีโอไปที่เว็บไซต์คุณโดยตรง
การเก็บไฟล์ไว้บนเว็บไซต์คุณเอง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เนื่องจากไฟล์วิดีโอมักมีขนาดใหญ่มาก วิดีโอความยาวแค่ 3 นาที อาจจะมีขนาดได้ถึง 100 MB (ในขณะที่เว็บเพจทั่วไป ต่อให้ประกอบไปด้วยรูปภาพมากมาย อย่างเก่งก็มีขนาดไม่เกิน 5 MB)
เว็บโฮสทั่วไปไม่ได้รองรับการส่งไฟล์ขนาดใหญ่ขนาดนี้ ทำให้วิดีโอมักกระตุกเวลารับชม
ในทางกลับกัน แพลตฟอร์มวิดีโอนั้นมีไว้สำหรับ video streaming โดยเฉพาะ แพลตฟอร์มพวกนี้มีเซิร์ฟเวอร์กระจายทั่วโลก มีระบบที่เรียกว่า load balancing ซึ่งป้องกันไม่ให้เซิร์ฟเวอร์ตัวใดตัวหนึ่งทำงานหนักเกินไป
นอกจากนี้ เมื่อคุณอัพโหลดวิดีโอขึ้นแพลตฟอร์มเหล่านี้ ระบบจะสร้างไฟล์ความละเอียดต่างๆ กัน เพื่อรองรับหน้าจอขนาดต่างๆ อย่างถ้าชมวิดีโอบนมือถือซึ่งจอขนาดเล็กกว่าจอคอม ระบบจะแสดงวิดีโอความละเอียดที่ต่ำลง (ขนาดไฟล์ก็เล็กลง) ทำให้การรับชมไม่ติดขัดถึงแม้ความเร็วเน็ตจะไม่มาก

แพลตฟอร์มพวกนี้ยังมี features อื่นๆ อีกมากมายเพื่อรองรับการชมวิดีโออย่างไหลลื่น เพราะฉะนั้นการ host วิดีโอไว้ที่แพลตฟอร์มพวกนี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรทำครับ
การ Embed วิดีโอ YouTube ในเว็บไซต์ WordPress
หากถามว่าจะอัพโหลดวิดีโอไปบนแพลตฟอร์มไหนดี ตัวเลือกแรกๆ คงหนีไม่พ้น YouTube (เพราะไม่มีค่าใช้จ่าย) เพราะฉะนั้นมาดูกันครับว่าทำยังไง
ก่อนอื่นให้อัพโหลดวิดีโอบน YouTube ให้เรียบร้อย แล้วไปที่หน้าของวิดีโอดังกล่าว แล้วกดคำว่า Share

จะมีหน้าไดอะล็อกขึ้นมาให้เราเลือกว่าจะแชร์ไปที่ไหนอย่างไร ให้เลือก Embed

จะมีโค้ด HTML แสดงขึ้นมา ให้คัดลอกหรือกด Copy

จากนั้นให้ไปที่ WordPress Editor ของหน้าเว็บที่คุณต้องการ embed วิดีโอ แล้วเลือกใส่ Custom HTML

แล้วก็วางโค้ด HTML ที่ copy มาลงไปเลยครับ เท่านี้วิดีโอก็จะแสดงบนหน้าเว็บแบบนี้
คุณสามารถแก้ไขโค้ด HTML ดังกล่าวเพื่อเปลี่ยน settings บางอย่างได้ เช่น ความกว้างและความสูงของวิดีโอ แต่ขอไม่ลงลึกตรงส่วนนี้ครับ (แค่อยากบอกให้รู้ว่ามันทำได้)
วีดิโอ YouTube แสดงโฆษณา ทำอย่างไรดี
YouTube นั้นฟรีก็จริง แต่ข้อเสียคือบางครั้งอาจมีโฆษณาแสดงบนวิดีโอเรา ทำให้ดูไม่มีอาชีพ
นอกจากนั้น เวลา pause วิดีโอ หรือหลังจากที่วิดีโอเล่นจบแล้ว YouTube มักชอบแสดง thumbnails ของวิดีโออื่นๆ เพื่อล่อให้ผู้ใช้งานกดดูวิดีโออื่นๆ ของ YouTube ต่อไปเรื่อยๆ (แทนที่จะสนใจเนื้อหาของเว็บคุณ)
ถ้าเราไม่ต้องการให้แสดงโฆษณาหรือแนะนำวิดีโออื่นๆ เราต้องใช้แพลตฟอร์มแบบเสียเงินครับ
Vimeo แพลตฟอร์มวิดีโอที่ผมแนะนำ
แพลตฟอร์มแบบเสียเงินที่ผมแนะนำ (เพราะใช้อยู่) คือ Vimeo.com ปัจจุบันผมใช้ plan ถูกที่สุด ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ปีละประมาณ 2,500 บาท
นอกจากมันไม่มีโฆษณาแล้ว แพลตฟอร์มนี้มี features น่าสนใจหลายอย่าง แต่หลักๆ ที่ผมชอบใช้ก็เช่น การกำหนดให้ embed วิดีโอได้เฉพาะบนเว็บไซต์เราเท่านั้น (specific domains)

อีก feature ที่ผมชอบคือกำหนดได้ว่าเมื่อวิดีโอเล่นจบจะให้แสดงข้อความอะไร

นอกจากนี้ยังมี features ที่มีประโยชน์ อีกมากมาย เช่น
- กำหนด thumbnail ของวิดีโอ
- กำหนดว่าจะให้โชว์ title หรือไม่
- กำหนดว่าให้แสดงหรือซ่อนปุ่มดาวน์โหลดวิดีโอ
- กำหนดว่าจะให้มี control bar ตรงส่วนล่างของวิดีโอหรือไม่
- กำหนดว่าจะให้ดูแบบเต็มหน้าจอได้ไหม
- กำหนดรหัสผ่านให้วิดีโอ
- ดูค่าสถิติต่างๆ เช่น จำนวนครั้งที่วิดีโอถูกเล่น
- ฯลฯ
สำหรับวิธีการ embed วิดีโอจาก Vimeo วิธีการก็คล้ายๆของ YouTube เลยครับ คือในหน้าแสดงรายละเอียดวิดีโอให้มองหาคำว่า Embed หรือ Embed code แล้วคัดลอกโค้ดมาใส่ใน WordPress เหมือนเดิมครับ

สำหรับแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่มีความนิยมรองจาก Vimeo ก็มี Wistia.com ซึ่งเจ้านี้เค้ามี plan ฟรีให้ด้วย (แต่เก็บได้แค่สามวิดีโอ และคงมีข้อกำจัดอื่นๆ) แต่ plan แบบเสียเงินแพงมากๆ คือ 99 ดอลลาห์ต่อเดือนเลยทีเดียว (แพงกว่าค่าใช้จ่ายรายปีของ Vimeo อีก) เจ้านี้ส่วนตัวผมไม่เคยใช้ครับ
จบแล้วครับสำหรับวิธีการแสดงวิดีโอบนเว็บไซต์
มีฟังก์ชั่น บังคับให้ไม่สามารถ forward video หรือเปล่าครับ
ถ้าเป็น Vimeo เราสามารถตั้งค่า settings ให้ไม่แสดงปุ่ม control ได้ครับ คนดูก็จะ forward video ไม่ได้
สามารถทำให้ดูวีดีโอได้เฉพาะ สมาชิกที่login เข้าเว็บไซต์ได้หรือไม่ ครับ(ในกรณีทำเว็บไซต์ดูหนังเฉพาะสมาชิก)
ทำได้ครับ ปกติที่ทำกันคือต้องทำให้หน้านั้นๆ เข้าถึงได้เฉพาะสมาชิกก่อน (โดยใช้ปลั๊กอินบางอย่างเพื่อสร้างระบบสมาชิก) แล้วก็ใส่วิดีโอในหน้าเหล่านั้น เพียงเท่านี้ก็จะมีแต่สมาชิกที่ดูวิดีโอได้ครับ