คุณอยากเปลี่ยนไปใช้เว็บโฮสที่ใหม่ โดยที่โดเมนและตัวเว็บยังเหมือนเดิมทุกประการ ใช่ไหมครับ?
บทความนี้ ผมจะบอกวิธีการอย่างละเอียดให้ครับ (ไม่ยากครับ)
แต่ก่อนจะเข้าเนื้อหาหลัก ขอตอบคำถามที่พบบ่อยไว้ก่อนเลย:
- ระหว่างการย้าย WordPress ไป host ใหม่เว็บจะมีช่วงที่เว็บเข้าไม่ได้หรือไม่? ปกติจะไม่มีครับ เว็บจะเข้าได้ตลอด
- ต้องย้ายโดเมนไปโฮสใหม่ด้วยหรือเปล่า? ไม่จำเป็นต้องย้ายโดเมนครับ แต่ต้องมีการอัพเดตค่า settings โดเมนเล็กน้อย
- จะเปลี่ยนโฮสได้ต้องมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับ WordPress หรือการทำเว็บไหม? ไม่จำเป็นครับ บทความนี้อธิบายทุกอย่างโดยละเอียด คนทั่วไปก็ทำได้ครับ
- เลือกเว็บโฮสใหม่ที่ไหนดี? ควรเลือกที่ๆ มีบริการย้ายเว็บไซต์ให้ฟรี ทุกอย่างจะง่ายขึ้นมากครับ
บทความนี้สอนการย้ายเว็บไซต์ที่สร้างด้วย WordPress จากโฮสติ้งที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งนะครับ (คือยังใช้ WordPress เหมือนเดิม แค่เปลี่ยนบริษัทเว็บโฮสติ้ง) แต่ถ้าคุณมีเว็บที่สร้างบนแพล็ตฟอร์มอื่น เช่น Wix, lnwshop, Weebly, Weloveshopping บทความนี้ไม่ใช่สำหรับคุณครับ
การย้าย hosting นั้นมีสองทางเลือก คือทำเอง (ต้องมีความรู้ทางด้านเทคนิค) หรือให้เจ้าหน้าที่ของโฮสใหม่ทำให้ ซึ่งแบบหลังที่เป็นวิธีที่ผมแนะนำสำหรับคนทั่วไป และจะเป็นวิธีที่สอนในบทความนี้ครับ
มาเริ่มขั้นตอนแรกกันเลยครับ
1. แบ็คอัพไฟล์เว็บไซต์
จริงๆ ขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นครับ แต่เพื่อความปลอดภัย ปกติก่อนจะทำอะไรสำคัญกับเว็บ เราควรจะแบ็คอัพไฟล์เว็บไซต์ เก็บไว้ที่เครื่องส่วนตัว หรือบริการฝากไฟล์ (เช่น Google Drive หรือ Dropbox) ถ้ามีอะไรผิดพลาด (เช่นเจ้าหน้าที่เผลอลบไฟล์) เราจะได้กู้เว็บคืนมาได้
สำหรับวิธีแบ็คอัพไฟล์ WordPress คุณอ่านได้จากบทความนี้เลยครับ
2. ต้องย้ายโดเมนไหม?
โดยส่วนใหญ่เวลาที่เราสมัครเว็บโฮสเพื่อทำเว็บครั้งแรก เราจะจดโดเมนกับเว็บโฮสนั้นด้วยเลย
ทีนี้ถ้าเราต้องการเปลี่ยนโฮสเป็นที่ใหม่ล่ะ เราต้องย้ายโดเมนไปโฮสใหม่ด้วยหรือไม่?
คำตอบคือ ไม่จำเป็นครับ เราสามารถย้ายเฉพาะ “ตัวเว็บไซต์ (ก็คือไฟล์ต่างๆ)” มาที่เว็บโฮสใหม่ โดยที่ยังเก็บโดเมนไว้กับบริษัทเดิมได้ เวลาชำระเงินค่าเว็บโฮสเราก็ทำกับเว็บโฮสที่ใหม่ เวลาชำระค่าโดเมนเราก็ทำผ่านเว็บโฮสเก่าเหมือนเดิม
ทีนี้คุณอาจสงสัยว่า อ่าวถ้าเราไม่ย้ายโดเมนมาที่โฮสใหม่ แล้วแบบนี้เวลาเราพิมพ์ชื่อโดเมนใน web browser แล้วมันจะเชื่อมต่อมาที่เว็บโฮสที่ใหม่ได้หรอ?
คำตอบคือ ได้ครับ เพราะเดี๋ยวเจ้าหน้าที่เค้าจะไปแก้ไข settings ของโดเมนเรา เพื่อให้ “เชื่อมต่อ” ไปยังเว็บโฮสที่ใหม่ (การที่โดเมนกับเว็บโฮสอยู่คนละบริษัท ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับ เว็บของผมก็อยู่คนละที่เหมือนกัน)
หรือถ้าคุณต้องการย้ายโดเมนด้วยก็ทำได้เหมือนกันครับ แต่เนื่องจากการย้ายโดเมนนั้นมีขั้นตอนและใช้เวลาพอสมควร ผมเลยแนะนำว่าให้ทำการย้ายเว็บไซต์จนเสร็จสมบูรณ์ก่อน แล้วค่อยพิจารณาว่าจะย้ายโดเมนหรือไม่ทีหลังครับ (ถ้าทำสองอย่างไปพร้อมกัน มันจะซับซ้อนเปล่าๆ)
3. ใช้เว็บโฮสไหนดี
อันนี้คุณเลือกได้ตามใจชอบครับ แต่ก่อนจะจ่ายเงินสมัครเว็บโฮสที่ใหม่ ให้ตรวจดูก่อนว่าเค้ามีบริการย้ายเว็บฟรีหรือไม่ (free website transfer) โดยเช็คจากเว็บไซต์หรือส่งข้อความไปสอบถามก็ได้ครับ (โฮสส่วนใหญ่ยินดีทำให้ฟรี เพราะเค้าอยากได้ลูกค้าอยู่แล้ว)

อย่างอื่นที่เว็บโฮสใหม่ควรจะมีคือนโยบายคืนเงินแบบไม่มีเงื่อนไข (เผื่อกรณีที่คุณเจอประสบการณ์ไม่ดีกับโฮสใหม่ หรือย้ายแล้วเว็บพัง จะได้ยกเลิกได้) และมี SSL certificate แถมฟรี (ตัว SSL นี้จะทำให้เว็บเป็น https ซึ่งมีผลดีต่อความหน้าเชื่อถือและอันดับใน Google) ถ้าไม่รู้จะเลือกโฮสไหน ก็เลือก FastComet ไปก็ได้ บริษัทนี้มีคุณสมบัติครบทุกประการ และเป็นโฮสที่ผมใช้อยู่ ถ้ามีปัญหาอะไรถามผมได้
สำหรับวิธีสมัคร ผมขอข้ามไปนะครับ (เพราะปกติมันก็แค่พิมพ์ชื่อ ที่อยู่ ข้อมูลบัตรเครดิต วิธีการเหมือนๆ ทุกเว็บ) สิ่งที่สำคัญคือ เวลาสมัครมันจะถามว่าต้องการจดโดเมนใหม่ด้วยไหม ให้เลือก “มีโดเมนอยู่แล้ว” แทนที่จะเลือก “จดโดเมนใหม่” (ตามรูปด้านล่าง)

หมายเหตุ: รูปด้านบนจะหน้าตาต่างกันไป ขึ้นอยู่กับเว็บโฮสแต่ละที่นะครับ
4. ติดต่อ technical support (เปิด ticket)
พอจ่ายเงินค่าสมัครเรียบร้อยแล้ว ให้คุณติดต่อเจ้าหน้าที่ของโฮสใหม่ (เว็บโฮส B) เพื่อให้เค้าจัดการย้ายเว็บไซต์ให้คุณครับ สิ่งที่คุณต้องส่งให้เค้าก็คือข้อมูลล็อกอินสำหรับเข้าเว็บไซต์ของเว็บโฮสเก่า (เว็บโฮส A) เจ้าหน้าที่เค้าจะได้เข้าไปดาวน์โหลดไฟล์เว็บ และอัพเดตค่า settings โดเมนได้
ในกรณีที่คุณจดโดเมนไว้กับอีกบริษัทนึง (ไม่ได้จดกับเว็บโฮส A) ก็ให้ส่งข้อมูลล็อกอินเข้าเว็บบริษัทนั้นๆ ให้ด้วยครับ
ถ้ารหัสผ่านเข้าเว็บโฮสเป็นอันเดียวกับที่ใช้ล็อกอินเข้าอีเมล และถ้าคุณกังวลเรื่องข้อมูลรั่วไหล ให้เปลี่ยนรหัสเข้าเว็บโฮสเป็นอันอื่นก่อนที่จะส่งให้เจ้าหน้าที่
ทีนี้วิธีติดต่อเจ้าหน้าที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท แต่ปกติเราต้องล็อกอินเข้าไปในเว็บโฮส แล้วมันจะมีเมนูให้เราส่งข้อความหา support หรือสร้าง ticket (ถ้าใช้ FastComet ให้อ่านวิธีจากหน้านี้)

ก็ให้เขียนบอกไปว่าต้องการให้ช่วยย้ายเว็บ WordPress ให้หน่อย โดยผมเขียนข้อความสำเร็จรูปให้แล้วด้านล่าง ทั้งภาษาไทย (สำหรับโฮสไทย) และภาษาอังกฤษ (สำหรับโฮสต่างประเทศ) ก่อนส่งข้อความอย่าลืมใส่ข้อมูลล็อกอินของคุณนะครับ
สวัสดีครับ พึ่งชำระเงินสมัครเว็บโฮสนี้ เพราะต้องการย้ายเว็บไซต์ WordPress จากโฮสเดิมมาที่โฮสนี้ครับ แต่ผมไม่รู้วิธีการว่าต้องทำอย่างไร รบกวนช่วยดำเนินการให้หน่อยครับ โดเมนเว็บไซต์ของผมคือ [โดเมนเว็บคุณ].com ด้านล่างคือข้อมูลล็อกอินเข้าเว็บโฮสเดิมครับ URL: [URL ของเว็บของโฮสเดิม].com Username: [username] Password: [password] ช่วยล็อกอินเข้าเว็บโฮสดังกล่าว ดาวน์โหลดไฟล์ WordPress เอามาติดตั้งที่โฮสนี้ และแก้ไขค่า name servers ของโดเมนให้ชี้มาที่โฮสนี้ให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
ข้อความภาษาอังกฤษ
Hello, I just purchased a hosting plan from you. I want to transfer my existing WordPress website to this hosting account but don't know how. Could you do it for me? My website's URL is [my-domain].com Here's the login information for the current hosting of my website: URL: [URL of current website].com Username: [username] Password: [password] Please login to that hosting account, download the WordPress files and install them on this new hosting account, and update the name servers of my domain so that it's linked to the new hosting. Thank you.
ข้อความด้านบนใช้สำหรับกรณีที่คุณจดโดเมนกับเว็บโฮสเดิม (เว็บโฮส A) ของคุณ แต่ถ้าโดเมนคุณอยู่กับอีกบริษัทหนึ่ง (บริษัท C) ก็ให้ระบุล็อกอินเข้าเว็บบริษัท C ในข้อความด้วย หรือไม่ก็อัพเดต settings โดเมนเองเลยตามบทความนี้ครับ (ไม่ยากครับ)
5. ตรวจสอบความเรียบร้อย
หลังจากที่เจ้าหน้าที่ทำการคัดลอกไฟล์และแก้ไขค่า setting โดเมนเสร็จแล้ว อาจจะต้องรอหลายชั่วโมงกว่าที่โดเมนจะเชื่อมต่อกับเว็บโฮสใหม่จริงๆ (คือเวลาแก้ไข settings ของโดเมนเนี่ย มันจะไม่มีผลทันที มันจะมีดีเลย์อยู่)
คำถามคือ อ่าวแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าการย้ายเว็บเสร็จสมบูรณ์ จะรู้ได้ไงว่าเวลาเราพิมพ์ชื่อโดเมนบน web browser หน้าเว็บที่เห็นมันถูกดึงมาจากโฮสใหม่ ไม่ใช่จากโฮสเดิม
วิธีนึงคือ ก่อนจะดำเนินการย้ายเว็บ ให้คุณเข้า DNSChecker.org แล้วพิมพ์ชื่อโดเมนคุณลงไป แล้วจดหมายเลข IP Address ที่แสดงเก็บไว้ก่อน (ตามรูปประกอบด้านล่าง) นี่คือหมายเหตุของโฮสปัจจุบันของคุณ

หลังจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าย้ายเว็บเสร็จแล้ว ให้คุณลองเข้าเว็บแล้วทำแบบเดิม ดูว่าหมายเลข IP address เปลี่ยนไปหรือไม่
- ถ้าหมายเลขเปลี่ยนไป แสดงว่าการย้ายเสร็จสิ้นแล้ว
- ถ้ายังเป็นหมายเลขเดิม อาจเป็นเพราะว่าค่า settings ยังไม่มีผล ให้รอซัก 24 ชั่วโมงแล้วลองอีกที ถ้าเลขยังไม่เปลี่ยนอีก แสดงว่ามีอะไรผิดพลาด ให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ให้เค้าจัดการให้ครับ
อีกวิธีนึงที่ใช้ตรวจสอบคือ บางครั้งเจ้าหน้าที่เค้าจะสร้าง text ไฟล์เปล่าๆ สำหรับทดสอบไว้ในเว็บของเรา (ไฟล์นี้จะมีแค่ในโฮสใหม่ ไม่มีในโฮสเดิม) แล้วเค้าจะส่งลิงก์ของไฟล์นี้ให้เราลองเข้าดู ถ้าเปิดลิงก์ได้ ไม่มีข้อความ error ว่าหาไฟล์ไม่เจอ แสดงว่าโดเมนเชื่อมต่อกับโฮสใหม่เรียบร้อยแล้วครับ

หลังจากมั่นใจแล้วว่าโดเมนเชื่อมต่อไปที่โฮสใหม่จริงๆ ก็ให้ลองเปิดหน้าต่างๆ ในเว็บดู ถ้าเว็บมีปลั๊กอินพิเศษ เช่น ฟอร์มส่งข้อความ ก็ให้ลองใช้งานดู เพื่อดูว่าการทำงานยังเหมือนเดิมไหม มีอะไรพังรึเปล่า
ถ้าเว็บคุณมีความซับซ้อน มีปลั๊กอินติดตั้งเยอะ แนะนำว่าอย่างพึ่งรีบไปยกเลิกโฮสเดิม (โดยเฉพาะถ้ายังไม่ถึงเวลาชำระรอบบริการใหม่) ให้ทดสอบจนแน่ใจว่าไม่มีอะไรผิดปกติ (อย่างน้อยซัก 2 – 3 วัน) แล้วค่อยยกเลิกโฮสเก่าครับ
การยกเลิกการเปลี่ยนโฮสติ้ง
ในกรณีโชคร้าย ระหว่างการย้ายโฮสติ้ง คุณพบว่าโฮสใหม่ไม่น่าจะใช่โฮสในฝันละ (อาจเพราะเจ้าหน้าที่บริการไม่ดี หรือย้ายมาแล้วเว็บพัง) อยากกลับไปใช้โฮสเดิมก่อน ก็ทำได้ครับ เพราะไฟล์เว็บไซต์คุณก็ยังอยู่กับโฮสที่เก่าอยู่
สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่เปลี่ยนค่า settings ของโดเมนให้กลับไปเชื่อมต่อโฮสตัวเดิม และรอไม่เกิน 24 ชั่วโมงให้ค่ามันถูกอัพเดต เท่านี้ก็เป็นอันเรียบร้อยแล้วครับ ส่วนเงินที่จ่ายให้โฮสใหม่ก็ทำเรื่องขอคืนเงินซะให้เรียบร้อย