WordPress คืออะไร (อธิบายแบบเข้าใจง่าย สำหรับผู้เริ่มต้น)

WordPress คือโปรแกรมฟรีที่ช่วยให้ “คนทั่วไป” สามารถสร้างเว็บไซต์ได้ด้วยตัวเอง (ไม่จำเป็นต้องเป็นคนเขียนเว็บ ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ HTML หรือการเขียนโปรแกรม)

WordPress เป็นวิธีที่นิยมที่สุดในการทำเว็บในปัจจุบัน

วิธีการสร้างเว็บด้วย WordPress ก็ง่ายๆ อันดับแรกให้คุณจดโดเมนและเช่าเว็บโฮสติ้ง จากนั้นก็ติดตั้ง WordPress ผ่าน web interface ของเว็บโฮสติ้ง เท่านี้ก็เริ่มใช้งาน WordPress ได้เลย (สามารถอ่านวิธีการอย่างละเอียดได้ในบทความนี้)

หลังการติดตั้ง ไฟล์ของโปรแกรม WordPress จะอยู่บนเว็บโฮสติ้ง (ไม่ใช่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณ) หมายความว่าไม่ว่าคุณจะใช้คอมพิวเตอร์ของที่บ้าน ที่ทำงาน หรือคอมเพื่อน คุณก็สามารถเข้าไปจัดการเว็บไซต์ของคุณได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงโปรแกรมอะไรบนเครื่องคอมพิวเตอร์ (จริงๆ ใช้มือถือยังได้เลย แต่อาจจะทำอะไรไม่ถนัด)

คุณสามารถล็อกอินเข้าไปใช้โปรแกรม WordPress โดยการเปิด web browser แล้วพิมพ์ URL ของเว็บคุณตามด้วย /wp-admin แบบตัวอย่างด้านล่าง

https://noobmarketer.com/wp-admin

พอล็อกอินแล้วคุณจะเห็นเว็บเพจแบบในรูปด้านล่าง เรียกว่า Dashboard

คุณสามารถใช้ Dashboard นี้จัดการเว็บไซต์คุณได้ ไม่ว่าจะเป็น

  • เขียนบทความ / สร้างเว็บเพจใหม่
  • สร้างเมนู
  • เปลี่ยนธีม (รูปลักษณ์ของเว็บไซต์)
  • ปรับแต่ง layout
  • แก้ค่า settings ต่างๆ (ภาษา, วันที่, เวลา)

สำหรับการใช้งาน WordPress อย่างละเอียด คุณสามารถอ่านบทความนี้ได้ครับ

โปรแกรมที่คล้ายๆ WordPress มีอยู่หลายตัวเช่น Joomja, Drupal, Magento, Shopify (แต่ WordPress ได้รับความนิยมกว่าตัวอื่นอย่างเทียบกันไม่ติด) เราเรียกโปรแกรมเหล่านี้ว่า content management system (CMS) หรือก็คือระบบจัดการเนื้อหาของเว็บไซต์นั่นเอง

WordPress ใช้ทำเว็บไซต์ประเภทไหนได้บ้าง

แต่เดิมนั้น WordPress นั้นออกแบบมาสำหรับทำบล็อกหรือเว็บไซต์ธรรมดาทั่วไป

แต่เนื่องจากความนิยมของ WordPress ทำให้มีการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า “ปลั๊กอิน (plugins)” ซึ่งก็คือฟังก์ชันการทำงาน “เพิ่มเติม” ที่เราสามารถเพิ่มให้เว็บไซต์ WordPress ของเราได้

โดยปลั๊กอินนี่เองทำให้เราสามารถทำเว็บไซต์ได้หลายประเภท เช่น

  • ทำเว็บขายของ ด้วยการติดตั้งปลั๊กอิน e-commerce เช่น WooCommerce
  • ทำเว็บบอร์ดสนทนา ด้วยการใช้ปลั๊กอินอย่าง bbPress
  • เว็บประกาศรับสมัครงาน ด้วยการใช้ปลั๊กอินอย่าง WP Job Manager

นอกจากการใช้ปลั๊กอินแล้ว เรายังสามารถเปลี่ยน “ธีม (theme)” ซึ่งก็คือดีไซน์ของเว็บไซต์เรา ให้มีรูปลักษณ์ที่เหมาะสมกับประเภทของเว็บไซต์ได้

WordPress นั้นมีธีมให้เราเลือกมากมาย (ทั้งแบบฟรีและเสียเงิน) ไม่ว่าจะเป็นธีมสำหรับเว็บ e-commerce, ธีมสำหรับเว็บข่าว, ธีมสำหรับเว็บท่องเที่ยว, ฯลฯ

โดยธีมพวกนี้จะถูกออกแบบมาให้มี layout ที่เหมาะสมกับประเภทของเว็บไซต์ เช่น ธีมสำหรับโชว์ portfolio ช่างภาพมักจะเน้นการแสดงรูปถ่าย ธีมสำหรับบล็อกมักมีตัวอักษรขนาดใหญ่และอ่านง่าย เป็นต้น

สรุปคือเราสามารถใช้ WordPress ทำเว็บได้หลายประเภท แต่แน่นอนว่าถ้าการทำเว็บที่มีฟังก์ชันเยอะๆ ก็จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญ และใช้เวลาเยอะกว่าการทำเว็บง่ายๆ อย่างบล็อกส่วนตัว

ข้อดีของการใช้ WordPress

WordPress เป็นระบบจัดการเว็บไซต์ที่ได้รับความนิยมที่สุด ซึ่งการใช้อะไรที่ได้รับความนิยม และมีฐานผู้ใช้มากๆ มีข้อดีหลายอย่าง คือ

  • มีการอัพเดตอย่างสม่ำเสมอ (ทั้งตัวโปรแกรม WordPress เอง รวมไปถึงปลั๊กอินและธีมต่างๆ)
  • มีปลั๊กอินและธีมให้เลือกเยอะ
  • หากติดปัญหาสามารถเปิดเน็ตหาวิธีแก้ได้ค่อนข้างง่าย
  • ถ้าต้องการจ้างคนทำเว็บให้เรา โปรแกรมเมอร์ที่เชี่ยวชาญ WordPress ก็หาได้ง่าย

WordPress เป็นระบบที่ถูกออกแบบและพัฒนาอย่างดี ทำให้เว็บไซต์มีชื่อเสียงหลายแห่งวางใจเลือกใช้ WordPress

ตัวอย่างเว็บดังๆ ที่ใช้ WordPress

หลายคนคิดว่า WordPress นั้นเหมาะสำหรับเว็บขนาดเล็กเท่านั้น นี่เป็นความเชื่อที่ผิดครับ

กรณีไหนควร/ไม่ควรใช้ WordPress

ถึงแม้ WordPress จะเป็นระบบที่ดีมากๆ แต่แน่นอนว่า ไม่มีระบบไหนที่สามารถตอบโจทย์การทำเว็บทุกรูปแบบได้ ทุกอย่างมีข้อจำกัดของมันอยู่

เพราะฉะนั้นมาดูกันครับว่า กรณีไหนควรใช้/ไม่ควรใช้โปรแกรมตัวนี้

อย่างแรกเลย ถ้าคุณอยากทำเว็บไซต์ประเภทที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น เว็บขายของ เว็บบล็อก เว็บ portfolio แสดงผลงาน (คือเว็บประเภทที่มีคนจำนวนมากต้องการทำ) อย่างนี้ WordPress ตอบโจทย์แน่ๆ ครับ

เหตุผลคือ เว็บไซต์ประเภทไหนก็ตามที่คนอยากทำกันเยอะ ก็มีโอกาสสูงที่จะมีคนสร้างปลั๊กอินหรือธีมมารองรับ

แต่ถ้าเว็บที่คุณต้องการทำมันมีความพิเศษมากๆ หรือมีฟังก์ชันบางอย่างที่ไม่มีใน WordPress แบบนี้คุณยังควรใช้ WordPress ไหม?

กรณีนี้ คุณมีสองทางเลือกครับ

ทางเลือกแรกคือ คุณก็ใช้ WordPress ไปนั่นแหละ (หรือใช้ CMS เจ้าอื่นก็ได้) แต่จ้างให้คนมาเขียนปลั๊กอินพิเศษเพิ่มเติมเพื่อเว็บไซต์มีฟังก์ชันตามต้องการ

วิธีนี้จะประหยัดงบหน่อย เพราะไม่ต้องเขียนโค้ดใหม่หมด ถ้าฟังก์ชันไหนมีใน WordPress (หรือปลั๊กอิน) เราก็ใช้ของ WordPress ได้ ไม่ต้องเขียนซ้ำ

ส่วนเรื่องที่ว่าจะใช้ WordPress หรือใช้ CMS เจ้าอื่น อันนี้ขึ้นอยู่กับตัว web developer ที่คุณจ้างแล้วครับ (ซึ่งบางทีคุณอาจไม่ต้องสนใจเรื่องพวกนี้เลยก็ได้ developer เค้าจะตัดสินใจให้คุณเอง)

ทีนี้หากเว็บที่คุณอยากสร้างมันมีความพิเศษและฉีกแนวสุดๆ (ลองนึกถึงเว็บพวก Shopee, YouTube, Facebook, Amazon อะไรพวกนี้ดู) อย่างนี้อาจต้องเขียนเว็บใหม่จากศูนย์ครับ วิธีนี้เหมาะกับกรณีที่ฟังก์ชันที่คุณต้องการส่วนใหญ่ หาไม่ได้ใน WordPress หรือ CMS ตัวอื่นเลย

ซึ่งคำตอบที่แน่นอนว่าจะเลือกทางไหน อะไรยังไง ผมคงให้คำตอบไม่ได้ (มันนอกเหนือขอบเขตเนื้อหาของเว็บผมแล้ว) ถ้าคุณคิดอยากทำเว็บระดับนี้ อย่างน้อยคุณควรมีงบสำหรับจ้างที่ปรึกษาแล้ว

เกร็ดความรู้ WordPress เพิ่มเติม

WordPress.org vs. WordPress.com ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

หมายคนมักสับสนระหว่างเว็บไซต์สองแห่งนี้ ผมจึงเขียนบทความอธิบายความแตกต่างระหว่างสองเว็บนี้

แต่สรุปสั้นๆ คือ

  • WordPress.org เป็น official website สำหรับดาวน์โหลดโปรแกรม WordPress
  • WordPress.com เป็นผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูปเจ้าหนึ่ง ที่มีบริการทั้งแบบฟรีและเสียเงิน โดยจะให้ผู้ใช้จัดการเว็บไซต์ผ่านโปรแกรม WordPress
  • เวลาเราพูดถึง WordPress ลอยๆ เราจะหมายถึงตัวโปรแกรม WordPress

WordPress เป็น Open-Source Software

ไม่มีบริษัทไหนมีเจ้าของลิขสิทธิ์ WordPress เนื่องจาก WordPress เป็นซอฟต์แวร์ประเภท open-source หมายความว่า ใครก็สามารถใช้งาน, แก้ไข, หรือดัดแปลงโค้ด WordPress ได้

สาเหตุที่โค้ด WordPress มีการอัพเดตอยู่เสมอ (แม้ว่าจะไม่มีเจ้าของ) ก็เพราะว่ามี web developer จากทั่วโลกอาสาแก้ไขปรับปรุงโค้ด WordPress อยู่ตลอด

WordPress ติดตั้งง่าย

ปกติแล้ว พอเช่าเว็บโฮสติ้งแล้ว เราต้องทำขั้นตอนเหล่านี้เพื่อติดตั้ง WordPress

  1. สร้าง database (ฐานข้อมูล) สำหรับเว็บไซต์ WordPress ของเรา (เป็นฐานข้อมูลเปล่าๆ)
  2. สร้าง user สำหรับ database ดังกล่าว
  3. ดาวน์โหลดไฟล์ WordPress จาก WordPress.org
  4. อัพโหลดไฟล์ WordPress ไปบนเว็บโฮสติ้ง
  5. ไปที่ URL เว็บไซต์ จะมีแบบฟอร์มให้เรากรอกรายละเอียดต่างๆ เช่น ชื่อเว็บไซต์, ชื่อ database, ชื่อ user ของ database นั้นและ password, ฯลฯ

แต่เนื่องจากวิธีดังกล่าวทำได้ยากสำหรับคนทั่วไป บริษัทเว็บโฮสติ้งจะมี WordPress Installer มาให้ เพื่อให้การติดตั้งง่ายขึ้น (ชื่อเรียกจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเว็บโฮสที่ใช้)

WordPress Installer

เวลาใช้ WordPress Installer สิ่งที่เราต้องทำก็แค่กรอกรายละเอียดง่ายๆ เช่น ชื่อเว็บไซต์, ชื่อ username และ password สำหรับล็อกอินเข้า Dashboard แล้วกดปุ่ม Install จากนั้นตัว Installer จะทำที่เหลือให้คุณเอง ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง database หรือการอัพโหลดไฟล์ WordPress ไปไว้บนเว็บโฮสติ้ง

คุณสามารถติดตั้ง WordPress บนเครื่องคุณได้

หากคุณอยากลองใช้งาน WordPress ดูว่ามันทำอะไรได้บ้าง โดยไม่เสียค่าโดเมนหรือเว็บโฮสติ้ง คุณก็สามารถทำได้ครับ โดยการลงโปรแกรมชื่อ XAMPP เพื่อให้คอมพิวเตอร์ของคุณมีการทำงานคล้ายๆ web server

สามารถอ่านวิธีการทำได้ตามลิงก็นี้เลย วิธีติดตั้ง/ใช้งาน WordPress บนเครื่องตัวเอง